ค็อกเทล
ค็อกเทล ในหลักสูตรสายอาชีพที่ธิติพรและธนาธิปเรียนอยู่ ณ วิทยาลัยแห่งนี้นั้น ได้กำหนดให้ นักศึกษา เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา ซึ่งธิติพรและธนาธิปต้องไปฝึกงานที่โรงแรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในตัวจังหวัด หลังจากเข้ามารายงานตัวกับผู้จัดการฝ่ายอาหาร เครื่องดื่ม งานเลี้ยงและบาร์แล้ว ก็มีพนักงานพาไปพบพลวัตร บาร์เทนเดอร์อาวุโสของแผนกบาร์ การพบปะครั้งแรกนั้นเป็นไปด้วยดี พลวัตรได้แนะนำหน้าที่ของบาร์เทนเดอร์และผู้ช่วยบาร์เทนเดอร์ หรือ บาร์บอย ให้ทั้งสองคนฟัง
“ขอถามก่อนว่ารู้จักตำแหน่งบาร์เทนเดอร์นี่หรือเปล่า” ธนาธิปตอบขึ้นว่า “เป็นคนที่ทำเครื่องดื่มให้ลูกค้าใช่ไหมครับ” พลวัตรพยักหน้า แล้วถามต่อไปว่า “แล้วรู้จักตำแหน่งบาร์บอยไหม” คราวนี้ธิติพรตอบบ้างว่า “เป็นลูกน้องบาร์เทนเดอร์อีกทีค่ะ” พลวัตรยิ้มแล้วพูดว่า “ใช้คำว่า ผู้ช่วย จะดูดีกว่านะ สำหรับพนักงานผู้ให้บริการเครื่องดื่มหรือบาร์เทนเดอร์นี่
จะเป็นตัวหลักในการทำเครื่องดื่มบริการให้ลูกค้าที่เข้ามาในบาร์ โดยบาร์ในโรงแรมนี้จะมีอยู่ 4 แห่ง ที่ล็อบบี้ ที่ห้องอาหาร ที่สระว่ายน้ำ และที่เลาน์จ” ธิติพรถามขึ้นว่า “แล้วบาร์เทนเดอร์ต้องไปทำงานทั้ง 4 แห่งเลยหรือเปล่าคะ” พลวัตรตอบว่า “ที่โรงแรมนี้ ทางผู้บริหารต้องการให้เกิดการหมุนเวียนไปประจำบาร์ละ 1 เดือน ก็เพื่อให้เปลี่ยนบรรยากาศ จะได้มีความกระตือรือล้นทำงาน” ธนาธิปถามพลวัตรว่า “แล้วตำแหน่งบาร์บอยก็หมุนเวียนเหมือนกันใช่ไหมครับ” พลวัตรตอบว่า “ใช่แล้วล่ะ แต่เพราะบาร์บอยยังไม่มีประสบการณ์ เค้าก็ทำได้เพียง คอยเตรียมสภาพของบาร์ให้พร้อมก่อนเปิด อาจจะผสมส่วนผสมบางอย่างให้บาร์เทนเดอร์ อย่างพวกน้ำพันซ์ น้ำเชื่อม อะไรประมาณนี้”
ก่อนจะพาไปดูสถานที่ต่างๆ ของโรงแรมแห่งนี้ พร้อมกับเล่าถึงประวัติความเป็นมาของโรงแรมให้ฟัง ระหว่างเดินกลับมายังแผนกบาร์ พลวัตรได้อธิบายเกี่ยวกับเครื่องดื่มที่บาร์เทนเดอร์ต้องรับผิดชอบ “เครื่องดื่มหลักๆ ที่น้องๆ จะมาฝึกกันใน 2 สัปดาห์แรกก็คือ ค็อกเทล ซึ่งเป็นเครื่องดื่มผสมที่มีสุราหรือเหล้า ตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปเป็นส่วนผสม และตอนนี้เราก็มาถึงบาร์ของโรงแรม ที่น้องๆจะต้องมาฝึกงานกัน” พลวัตรได้อธิบายถึงงานของแผนกที่นอกเหนือจากการผสมเครื่องดื่ม ยังต้องมีการทำบัญชีการขายเครื่องดื่มรายวัน ตรวจนับสิ่งของต่างๆ และลงบัญชีสิ่งของประจําบาร์ จากนั้นพลวัตรก็พาทั้งสองเดินไปยังห้องพักสำหรับพนักงาน “พี่เตรียมโต๊ะ
ทำงานไว้ให้น้องทั้งสองคนแล้วนะ ในห้องนี้ยังมีพนักงานคนอื่นๆ ของฝ่ายเข้ามาใช้อยู่เป็นระยะๆ” พร้อมกับแนะนำพนักงานคนอื่นๆ ให้ธิติพรและธนาธิปรู้จัก พร้อมกับบอกทั้งสองว่า “ที่นี่เรารับบาร์เทนเดอร์ทั้งชายและหญิงนะ จะดูความรู้ความสามารถเป็นหลักทั้งเรื่องการทำเครื่องดื่มแล้วก็เรื่องภาษาอังกฤษ เพราะโรงแรมนี้มีลูกค้าต่างชาติเข้ามาใช้บริการค่อนข้างมาก” ธิติพรถามพลวัตรบ้างว่า “คุณสมบัติอื่นๆ ของคนที่มาเป็นบาร์เทนเดอร์ยังมีอีกไหมคะ” พลวัตรเลยถามกลับว่า “ในความคิดของน้อง คิดว่าต้องมีอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง” ธิติพรเลยตอบว่า “มนุษยสัมพันธ์คะ” พลวัตรพยักหน้าแล้วหันไปมองธนาธิป ซึ่งกำลังคิดอยู่ ก่อนตอบว่า “ทัศนคติครับ” พลวัตรบอกว่า “ใช่เลยทั้งมนุษยสัมพันธ์ ทัศนคติ และเพิ่มให้อีกอย่างนะคือ ความอดทน เพราะบาร์เทนเดอร์ต้องเจอลูกค้ามากหน้าหลายตา แต่ละคนก็มีพื้นฐานไม่เหมือนกัน มีความอดทนเท่านั้นที่จะรับมือกับลูกค้าได้ทุกประเภท”
การฝึกงานวันแรกของทั้งสองก็ผ่านไปโดยราบรื่น ก่อนเลิกงาน พลวัตรได้มอบหนังสือให้ทั้งสองยืมไปอ่าน “วันพรุ่งนี้ เราจะมาทำความรู้จักเจ้าสุราเมรัยกันนะ อ่านในหนังสือที่ให้ยืมไปพอให้รู้ว่าอะไรคืออะไรก็พอนะ รายละเอียดเราจะมาพูดกันในที่ทำงาน” พลวัตรกล่าว ทั้งธิติพรและธนาธิปจึงตัดสินในนำหนังสือเล่มนั้นไปถ่ายเอกสารเพื่อที่ทั้งสองจะได้อ่านที่หอพักของตนเองและจะได้คืนต้นฉบับให้พลวัตร
วันต่อๆ มาของการฝึกงาน ช่วงเช้าพลวัตรจะเล่าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะใช้ทำเครื่องดื่มผสมแต่ละชนิดให้ธิติพรและธนาธิปฟัง ก่อนจะให้ทั้งสองเข้าไปฝึกงานในแผนกเครื่องดื่ม อย่างเช้าวันนี้ พลวัตรพูดถึงตากีล่า “มีใครเคยได้ยินชื่อเครื่องดื่มนี้หรือเปล่า ตากีล่า
รู้ไหมว่าที่มาอยู่ในประเทศอะไร” พลวัตรถาม ธนาธิปชิงตอบก่อน “เม็กซิโกครับ เคยได้ยินชื่อครับ แต่ยังไม่เคยเห็น” พลวัตรพูดขึ้นว่า “ใช่แล้วล่ะ ตากีล่า ผลิตในประเทศเม็กซิโก จัดเป็นสุรานะ มีสีขาวและกลิ่นแรง เค้าใช้เมซคอลที่เป็นพืชพื้นเมืองในการผลิตขึ้นมา มีตากีล่าบางชนิดที่มีสีเหลืองทอง แบบนั้นเค้าเอาไปบ่มในถังไม้ ทำให้สีมันแตกต่างออกไป คนเม็กซิกันท้องถิ่นเค้าจะดื่มตากีลาแบบเพียวๆ เลย แต่เค้ามีวิธีดื่มนะรู้หรือเปล่า”
คราวนี้ธิติพรเป็นคนตอบบ้างว่า “รู้คะ ก็คือเค้าจะหยิบเกลือใส่ปาก แล้วบีบมะนาวตามเข้าไปในปาก ก่อนจะดื่มตากีล่าตามลงไปค่ะ” “ใช่แล้ว และวิธีการดื่มแบบนี้จะช่วยให้รสชาติของตากีล่าคลุกเคล้ากับเกลือและมะนาวในปาก ลดกลิ่นที่รุนแรงลงไปได้” พลวัตรบอกพร้อมกับนำเอาตากีลามาให้ดู แล้วสอนวิธีการผสมตากีล่าเครื่องดื่มผสม 2 อย่างคือ ตากีลาซันไรส์ และมาร์การิต้า
“นี่คือวอดก้า” เช้านี้พลวัตรนำวอดก้ามาให้ธิติพรและธนาธิปดู สิ่งที่ทั้งคู่เห็นนั้นเป็นเครื่องดื่มใส มีกลิ่นเล็กน้อยมากจนแทบไม่รู้สึก พลวัตรกล่าวต่อไปว่า”วอดก้ามีความแรง 40 ถึง 50 ดีกรี ผลิตครั้งแรกในรัสเซียและโปแลนด์ วอดก้าผลิตจากมันฝรั่ง
พอเค้าหมักเสร็จ ก็จะนำไปกรองและดูดกลิ่นจนกระทั่งมีสีเจือปนและกลิ่นน้อยที่สุด มีวอดก้าบางชนิดจะแช่สมุนไพรหรือเครื่องเทศและนำไปใช้เป็นยา แต่ไม่ค่อยมีใครนำมาขายในเมืองไทย วันนี้จะสอนวิธีทำเครื่องดื่มผสมวอดก้านะ” พลวัตรสอนนักศึกษาทั้งสองทำสกรูไดรเวอร์ และบลัดดี้แมรี่ ซึ่งใช้วอดก้าผสม
ในวันจันทร์ของสัปดาห์ต่อมา พลวัตรสอนธิติพรและธนาธิปวิธีการทำเครื่องดื่มผสมจากจิน “จิน เป็นสุราสีขาว ที่มีกลิ่นหอมของผลจูนิเปอร์ ทำมาจากข้าวและผสมกลิ่นรสชาติของสมุนไพรรวมถึงผลจูนิเปอร์ เป็นที่นิยมกันมากในประเทศฮอลแลนด์ ปัจจุบันผลิตกันในหลายๆ ประเทศ
กลิ่นและรสชาติก็แตกต่างกันไป เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีการผลิตและส่วนผสม เช่น จินที่ผลิตจากฮอลแลนด์ รสจะเข้มข้นมาก นิยมดื่มโดยไม่ผสม แต่ควรแช่ให้เย็นจัด ส่วนจินจากอังกฤษและอเมริกา นิยมดื่มเป็นเครื่องดื่มผสม ที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น จินโทนิค ออเรนจ์บลอสสัม ทอมคอลลินส์ มาร์ตินี”
หลายวันถัดมา ธิติพรและธนาธิปก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับลิเคียวร์หรือคอร์เดียล ทั้งสองคำนี้มีความหมายคล้ายกัน ส่วนใหญ่คำว่า ลิเคียวร์ มักจะหมายถึงสุราหวานของประเทศแถบยุโรป ส่วน คอร์เดียล หมายถึงสุราหวานของประเทศสหรัฐ อเมริกา สุราหวานเป็นการผสมสุราชนิดใดก็ได้กับความหวาน
และเพิ่มสี กลิ่น และรสลงไปด้วย โดยจะใช้ สี กลิ่น รสของผลไม้ สมุนไพร เครื่องเทศ หรือแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดของผลไม้ก็ได้ จะเห็นว่าสุราหวานมีสีต่างๆ มากมาย อาจดื่มเปล่าๆ ผสมน้ำแข็ง ผสมค็อกเทลให้มีสีสวยงาม
อีก 2 สัปดาห์ที่เหลือจะเป็นการฝึกงานเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดที่ไม่ผสม ทั้งธิติพรและ ธนาธิปต่างก็สนุกสนานกับการฝึกงานที่นี่เป็นอย่างมาก และเฝ้ารอให้ถึงสัปดาห์หน้าอย่างใจจดใจจ่อ