โรงเรียนบ้านหนองปรือ

หมู่ 2 ต.เบิกไพร อ.จอมบึง จ.ราชบุรี 70150

Mon - Fri: 9:00 - 17:30

032 228386

ไอเดียสร้างสีสัน เพื่อการเก็บเงินให้สนุก

 

ไอเดียสร้างสีสัน เพื่อการเก็บเงินให้สนุก

 

        ไอเดียสร้างสีสัน เพื่อการเก็บเงินให้สนุก     เชื่อว่าคงมีหลายคน ที่อยากเก็บเงินให้ได้มากที่สุด แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ ซึ่งก็อาจมีหลายปัจจัยทำให้การเก็บเงินนั้นมีอันต้องล้มเหลวไป วันนี้เราจึงมีวิธีเก็บเงินสนุกๆ มาแนะนำ เพื่อเป็นการสร้างสีสัน และแรงบันดาลใจ ให้สามารถเก็บเงินจนประสบ ความสำเร็จ ตามที่หวังได้ง่ายขึ้นค่ะ

  • เก็บโดยการแบ่งเป็นหลายกระปุกตามวัตถุประสงค์ที่จะใช้เงิน
    วิธีการนี้ สามารถทำโดยการหากระปุก หรือขวดโหลน่ารักๆ หลายๆ ใบมาเตรียมไว้เป็นที่ใส่เงิน จากนั้นเขียนป้ายแปะไว้ที่ขวดแต่ละใบว่าเราจะเก็บเงินไว้สำหรับทำอะไรบ้าง เช่น ใบที่หนึ่ง สำหรับเที่ยวบาหลี ใบที่สอง สำหรับซื้อไอโฟนเครื่องใหม่ ใบที่สาม สำหรับซื้อกระเป๋าชาแนลเป็นของขวัญวันเกิดให้เพื่อนเลิฟ เป็นต้น หลังจากนั้นก็ตั้งงบให้ขวดแต่ละใบ และทำแผนว่า ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการเก็บเงินตามวัตถุประสงค์นั้นๆ และต้องหยอดแต่ละขวดเป็นเงินวันละเท่าไหร่ การทำเช่นนี้จะช่วยให้การเก็บเงินมีเป้าหมายชัดเจน ทั้งจำนวนเงิน และระยะเวลา

  • เก็บเศษเหรียญ
    คนบางคนอาจไม่สนใจเงินเหรียญ เพราะมองว่าแทบไม่มีค่า ในแต่ละวันเมื่อมีเงินเหรียญติดกระเป๋ากลับมาก็มักจะวางไว้กระจัดกระจายเกลื่อนกลาดทั่วบ้านไปหมด ทั้งตามมุมต่างๆ ในบ้านเอง และซอกต่างๆ ในรถ ซึ่งหลังจากนี้ แทนที่จะวางเกลื่อนบ้าน ให้ลองหากระปุกมาใส่รวมกันไว้ที่เดียว ทุกวัน เมื่อกลับจากข้างนอกให้เอาเศษเหรียญจากกระเป๋ามาใส่รวมไว้ในกระปุกนี้ เมื่อครบ 6 เดือน หรือ 1 ปี ลองเอาออกมานับดู จะพบว่าเป็นจำนวนเงินที่มากอย่างคาดไม่ถึง

  • หาแนวร่วม เก็บเงินกันเป็นทีม
    บางคนเก็บเงินคนเดียวอาจไม่สนุกพอ ไม่มีแรงบันดาลใจพอ ก็ควรหาแนวร่วม เช่น เก็บเงินร่วมกับก๊วนที่ออกทริปด้วยกันเป็นประจำ โดยอาจตั้งเป้าเพื่อเอาเงินนั้นไว้สำหรับออกทริปครั้งต่อไป และเป็นทริปต่างประเทศที่ยังไม่เคยไปกันมาก่อน เช่น แพลนว่าจะไปเที่ยวญี่ปุ่นกันต้นปีหน้า จะต้องเก็บเงินกันคนละ 3 พันบาท เพื่อให้ได้เงินประมาณ 3 หมื่นบาท เพื่อเป็นค่าที่พักและตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น แน่นอนว่าทุกคนจะมีแรงบันดาลใจมากขึ้นในการเก็บเงินครั้งนี้อย่างแน่นอน
     
  • เก็บตามวันที่จนครบปี
    วิธีการคือ วันที่ 1 เก็บ 1 บาท วันที่ 10 เก็บ 10 บาท วันที่ 30 เก็บ 30 บาท ไปเรื่อยๆ จนวันสุดท้ายของปีจะต้องเก็บ 365 บาท ซึ่งที่จริงแล้ววิธีการนี้มีมานานแล้ว แต่น้อยคนที่จะเก็บได้ครบจนถึงวันสุดท้ายของปี อย่างเก่งก็ได้แค่ประมาณกลางๆ ปี เพราะจะต้องเป็นคนที่มีวินัยมากๆ เคร่งครัดมากๆ ไม่ขาดเลยแม้แต่วันเดียว โดยวันสุดท้ายจะมีเงินเก็บมากถึง 66,000 บาท แต่ในความเป็นจริงแล้วคนจะมีเงินมากกันในช่วงต้นปี เพราะจะได้เงินพิเศษต่างๆ เช่น เงินโบนัส และจะมีเงินน้อยลงตอนช่วงท้ายๆ ของปี ดังนั้นอาจจะลองทำกลับด้านดูก็ได้ เช่น วันที่ 1 เก็บ 365 บาท วันที่ 2 เก็บ 364 บาท ไปเรื่อยๆ พอถึงวันสุดท้ายก็จะได้เงินเก็บประมาณ 66,000 บาทเท่ากัน นับเป็นวิธีที่สนุก และได้เงินเก็บเป็นกอบเป็นกำอีกวิธีหนึ่ง

    1. ตั้งเป้าให้ชัด แล้วบอกให้คนใกล้ตัวรับรู้เอาไว้ด้วย 
      การมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการนำเงินไปทำอะไร เป็นการสร้างแรงฮึดในการเก็บเงินให้ได้ยิ่งขึ้น เช่น ต้องการเอาไปซื้อคอนโด ต้องการเอาไปซื้อรถ เป็นต้น และยิ่งถ้าได้บอกกล่าวกับคนใกล้ตัวให้เป็นสักขีพยานรับรู้ไว้ด้วย จะยิ่งเหมือนเป็นการให้คำมั่นสัญญากับเค้าไว้ ว่าจะต้องทำให้ได้ และจะได้มีคนคอยให้กำลังใจและคอยเตือน ไม่ให้เราออกนอกลู่นอกทางได้ง่ายๆ ด้วย

  • แยกบัญชีเพื่อเก็บเงินไว้ต่างหาก
    การเปิดบัญชีใหม่เพื่อแยกเงินเก็บออกจากเงินที่จะใช้จ่ายส่วนตัวไปเลย เป็นการทำให้การเก็บเงินนั้นเป็นไปอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ อาจให้ธนาคารตัดเงินเดือนมาใส่ไว้ในบัญชีนี้ทันทีที่มีเงินเข้าทุกเดือน เพื่อเป็นการเก็บเงินอย่างจริงจัง ไม่มีการผัดผ่อน ไม่ว่าจะติดปัญหาอะไรก็ตาม แต่ต้องไม่มีข้อแม้ไม่เก็บเงิน ไม่เบี้ยวการเอาเงินมาเก็บเข้าบัญชีนี้

  • ยิ่งฟุ่มเฟือยมากยิ่งต้องเก็บเงินมาก
    หากช่วงไหนที่คุณเผลอเอาเงินไปใช้ฟุ่มเฟือยในเรื่องอื่นมาก ยิ่งต้องเอาเงินมาเก็บมากขึ้น เช่น อาจตั้งกฏกับตัวเองไว้ว่า จะต้องเก็บเงินเพิ่มทุก 10% ของยอดเงินที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไป เช่น ถ้ามื้อไหนเผลอกินอาหารหรูราคามื้อละ 1,000 บาท คุณจะต้องเอาเงินอีก 10% มาเก็บเพิ่ม คือจะต้องเพิ่มไปอีก 100 บาทในวันเดียวกันนั้น เป็นต้น ซึ่งหากคุณสามารถทำได้อย่างเคร่งครัดแล้ว นอกจากจะเก็บเงินได้มากขึ้นแล้ว วิธีการนี้ยังช่วยเตือนสติให้คุณได้คิดก่อนทุกครั้งที่จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และไม่ประมาทในการใช้เงิน เป็นการช่วยสร้างวินัยการใช้เงินให้ดีขึ้นด้วย

  • เก็บแบงค์ห้าสิบ
    วิธีการนี้ก็มีมานานแล้ว และก็ยังเป็นวิธีที่คนใช้กันมากและได้ผลดี เพราะทำได้ง่าย และแบงค์ห้าสิบนั้น ถือว่าเป็นเงินที่ไม่มาก แต่ก็ไม่น้อยเกินไปที่จะเก็บ เมื่อครบปีนำออกมานับ ก็จะพบว่า นี่เป็นวิธีที่ทำให้มีเงินเป็นกอบเป็นกำได้เหมือนกัน
     
  1. เก็บแบงค์ตามตัวเลขลงท้าย
    วิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีที่สนุกและท้าทาย เพราะแต่ละวันจะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเก็บเงินได้เท่าไหร่ หรืออาจไม่ได้เลย เพราะเป็นการเก็บเงินตามตัวเลขที่ลงท้ายของธนบัตร เช่น เก็บธนบัตรที่ลงท้ายด้วยเลข 9  ซึ่งอาจจะเปลี่ยนไปตามวันที่ก็ได้ เช่น วันที่ 1 เก็บธนบัตรที่ลงท้ายด้วยเลข 1 วันที่ 2 เก็บธนบัตรที่ลงท้ายด้วยเลข 2 เป็นต้น 

      ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด เป็นเพียงไอเดียบางส่วน จากผู้ที่เคยใช้วิธีเก็บเงินเหล่านี้แล้วประสบความสำเร็จ จึงเอามาแนะนำให้เป็นตัวอย่างเท่านั้น ทั้งนี้ หากใครมีวิธีการอื่นๆ ที่คิดว่าเหมาะกับตัวเองมากกว่า ก็สามารถปรับใช้กันได้ตามความสะดวก เพราะที่จริงแล้ว วิธีการไหนย่อมไม่สำคัญ เท่ากับว่าสุดท้ายแล้ว คุณเก็บเงินได้ตามเป้าหมายหรือไม่